โลโก้ (Logo) คืออะไร

โลโก้ (Logo) คือ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ ที่เป็นเหมือนหน้าตาของแบรนด์ สามารถบ่งบอกตัวตนของแบรนด์ ธุรกิจ หรือองค์กรของเรา มีหน้าที่ในการสื่อสารถึงกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้บริโภคได้รับรู้ จดจำ และเชื่อมั่นในแบรนด์ของเรา ดังนั้นโลโก้จึงสามารถส่งผลต่อการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และการจดจำแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

ในการออกแบบโลโก้นั้นจึงต้องคำนึงถึงหลากหลายปัจจัย โลโก้ที่ดี จะสามารถสะท้อนตัวตนได้ตั้งเเต่แรกเห็น มีเอกลักษณ์ชัดเจน จดจำได้ง่าย ลูกค้าสามารถแยกแบรนด์ของเราออกจากแบรนด์ของคู่แข่งได้ เราอาจเคยเห็นโลโก้ของแบรนด์ระดับโลกที่มีความแตกต่างกัน เช่น มีแต่ตัวอักษรอย่างเดียว, ตัวย่อ, รูปภาพ, สัญลักษณ์ภาพ และอื่นๆ บทความนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับการแบ่งประเภทของโลโก้หลักๆ 7 ประเภท ดังนี้

สารบัญ

โลโก้ 7 ประเภท

  1. Logo ตัวย่อ (Monogram หรือ Lettermark)

เป็นโลโก้ที่ประกอบด้วยตัวอักษรสองสามตัว ซึ่งมักจะเป็นชื่อย่อของบริษัทหรือชื่อแบรนด์ที่มีความยาว เครื่องหมายตัวอักษรนั้นเน้นความเรียบง่าย การใช้โลโก้ที่มีตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัวทำให้แบรนด์ของบริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถสร้างการจดจำได้ดีกว่าการใช้ชื่อเต็ม เช่น IBM, CNN, HP, HBO

2. Logo ตัวอักษร (Wordmark หรือ Logotype)

โลโก้นี้จะมีความคล้ายกับประเภทที่1ที่เน้นการใช้ตัวอักษร เน้นไปที่ชื่อของธุรกิจ โลโก้ลักษณะนี้จะสามารถทำงานได้ดีมากเมื่อธุรกิจของเรามีชื่อที่กระชับและชัดเจน ยกตัวอย่างโลโก้ Google เป็นตัวอย่างที่ดีและชัดเจนมาก ตัวชื่อเองนั้นมีความติดหูและสามารถจดจำได้ง่าย ดังนั้นเมื่อมารวมกับการออกแบบตัวอักษรที่มีความชัดเจน เลือกรูปแบบตัวอักษรที่สะท้อนภาพลักษณ์ บุคลิกภาพของแบรนด์ด้วย จะยิ่งตอกย้ำให้แบรนด์ของเราชัดเจนในใจของผู้พบเห็น

3. Logo รูปภาพหรือสัญลักษณ์ (Pictorial Mark หรือ Symbol)

โลโก้ประเภทนี้จะเน้นไปที่การออกแบบกราฟิก รูปภาพที่คุ้นตา ให้ออกมาเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถจดจำได้ง่าย เห็นแล้วสามารถจำได้ทันทีว่าคือแบรนด์อะไร แม้ว่ารูปภาพหรือสัญลักษณ์อาจไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการเลยก็ตาม เช่น Apple

4. Logo แบบนามธรรม (Abstract Logo Mark)

โลโก้ประเภทนี้จะเน้นไปที่รูปภาพหรือสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นภาพลักษณะสมมุติขึ้นมา อาจได้แรงบันดาลใจมาจากภาพเรขาคณิต ลายเส้น รูปร่าง หรืออ้างอิงรูปภาพหรือสัญลักษณ์บางอย่างมาดัดแปลงให้เกิดเป็นรูปภาพใหม่ที่มีความเป็นนามธรรม ไม่ได้มีความหมายสื่อสารตรงตัว แตกต่างจากที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น โลโก้ Pepsi

5. Logo มาสคอต (Mascot)

เป็นโลโก้ภาพประกอบที่มีการออกแบบจากรูปคน สัตว์ หรือตัวการ์ตูนที่เรากำหนดมาให้เป็น Mascot ของแบรนด์ อาจเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เช่น ผู้พันของ KFC หรือคาแรคเตอร์การ์ตูนที่สื่อถึงจุดเด่นของธุรกิจ เป็นตัวแทนหรือทูตของแบรนด์ เพื่อช่วยสร้างการจดจำได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างบรรยากาศที่ดีด้วยการใช้ Mascot ดึงดูดกลุ่มลูกค้าและ Mascot ยังเป็นจุดที่สามารถเชื่อมผู้คนกับแบรนด์ให้มีส่วนร่วมต่อกันได้อีกด้วย

6. Logo ภาพและตัวอักษร (Combination Mark Logo)

โลโก้ผสมที่ประกอบด้วยรูปภาพหรือสัญลักษณ์ ออกแบบร่วมกับตัวอักษรรวมเข้าด้วยกัน อาจจัดวางอยู่รวมกัน หรือจัดวางไว้ข้างกัน หรือบนกับล่างก็ได้ ถือว่าเป็นโลโก้ที่นิยมใช้มากพอสมควร สามารถช่วยสร้างการจดจำได้

7. Logo ตรา (Emblem Logo)

เป็นโลโก้ตราสัญลักษณ์ที่องค์ประกอบต่างๆ เช่น รูปภาพ สัญลักษณ์ ตัวอักษร จะรวมตัวอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนใหญ่มีลักษณะมีกรอบล้อมรอบ รูปเรขาคณิตต่างๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น โลโก้ Starbucks และพบเห็นได้มากในกลุ่มสถาบัน โรงเรียน ภาครัฐ ฉะนั้นจะมีข้อควรระวังในการออกแบบ เนื่องจากการออกแบบที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะรวมอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกัน การใช้โลโก้ที่มีสัดส่วนที่เล็กลงอาจทำให้เห็นรายละเอียดต่างๆได้ไม่ครบหรือไม่ชัดเจน ไม่ควรออกแบบโดยใช้รายละเอียดที่มากเกินไป

สรุป

โลโก้ มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการสร้างแบรนด์ เพราะเป็นสิ่งแรกที่จะสื่อสารตัวตนของแบรนด์ไปยังลูกค้าหรือผู้คน เป็นสิ่งที่ทำให้แบรนด์ของเราโดดเด่น และแตกต่าง ฉะนั้นในการออกแบบโลโก้ จึงจำเป็นต้องรู้หลักการในการออกแบบพื้นฐาน ความแตกต่างระหว่างโลโก้ประเภทต่างๆ เพื่อช่วยในการออกแบบโลโก้ที่นอกจากจะมีเรื่องของความสวยงามแล้ว ยังสื่อสารแบรนด์ออกมาได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย และชัดเจนในใจของลูกค้า